วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

การบริการแผนไทย การประคบสมุนไพร

การนวดแผนไทยรพ.รร.จปร.



ประวัติความเป็นมา "ฤๅษีดัดตน "


              ฤๅษี หรือฤษี ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ

              ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน พ.ศ.2331 เมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (ปัจจุบัน คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ) และข้อมูลของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน ระบุว่า มีเขาฤๅษีดัดตน ซึ่งก็คือ สวนสุขภาพแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้พระวิหารทิศใต้ เป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้เมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และประยุกต์กับคติไทยที่ยกย่องฤษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ เป็นรูปฤๅษีดัดตน แสดงท่าไว้ที่วัดเพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียนและรักษาโรคได้อย่างกว้างขวาง สมัยแรกสร้างนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด และโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระราชโอรสในรัชกาล ที่ 1 พระนามเดิม พระองค์เจ้าดวงจักร) เป็นแม่กอง กำกับช่าง หล่อรูปฤๅษีแสดงท่าดัดตน ด้วยสังกะสีผสมดีบุก (เรียกว่า ชิน) จำนวน 80 ท่า เสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสนาอำมาตย์ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต ร่วมกันแต่งโคลงประกอบรูปฤๅษีดัดตน โดยพระองค์เองก็ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย และจารึกโคลงเหล่านั้นลงบนแผ่นศาลาติดไว้ตามผนังศาลารายรอบวัด (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

               และยังมีหลักฐานการจารึกในโคลงบานพับแผนก บนแผ่นศิลารายรอบผนังวัดโพธิ์ กล่าวถึงความเป็นมาของฤๅษีดัดตน ว่า

  
ลุศักราชพ้น                             พันมี เศษเฮย
ร้อยกับเก้าสิบแปดปี                             วอกตั้ง
นักษัตรอัฐศกรวี                                  วารกดิก มาศแฮ
สุกรปักษ์ห้าค่ำครั้ง                               เมื่อไท้บรรหาร

ให้พระประยุรราชผู้                     เป็นกรม หมื่นแฮ
ณรงค์หริรักษ์รัตน์                                ช่างใช้
สังกสีดิบุกผสม                                   หล่อรูป
นักสิทธิ์แปดสิบให้                                เทิดถ้าดัดตน

เสร็จเขียนเคลือบภาพพื้น              ผิวกาย
ตั้งทุกศาลาราย                                   รอบล้อม
อาวาสเชตะวันถวาย                             นามทั่ว องค์เอย
จารึกแผ่นผาพร้อม                               โรคแก้หลายกล
 
                 และปรากฏข้อความในโคลงบทต่อมาจากข้างต้นที่แสดงให้ถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อให้เป็นตำราวิชาการที่จัดไว้ในที่สาธารณะเปิดโอกาสให้ทุกเพศทุกวัยเข้าถึงและศึกษาจดจำนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและครอบครัวได้ตามความประสงค์อย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกเวลา

          เป็นประโยชน์นรชาติสิ้น               สบสถาน
เฉกเช่นโอสถทาน                                ท่านให้
พูนเพิ่มพุทธสมภาร                              สมโพธิ์ พระนา
ประกาศพระเกียรติยศไว้                        ตราบฟ้าดินศูนย์           
   
ฤๅษีดัดตน ยังปรากฏอยู่ในโคลงประกอบรูปฤๅษีดัดตนด้วย ตัวอย่างเช่น โคลงพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3 ดัดตนแก้เอวขดขัดขา ความว่า

 

ชฎิลดัดตนนี้น่า                          นึกเอะ ใจเอย
ชี้ชื่อสังปติเหงะ                                   หง่อมง้อม
กวัดเท้าท่ามวยเตะ                               ตึงเมื่อย หายฮา
แก้สะเอวขดค้อม                                 เข่าคู้โขยกโขยง
   
โคลงสุพรรณหงส์นิพนธ์ ความว่า

          ชฎิลฤๅษีไร้                             โรคร้าย
อายุยืนอื่นใคร                                    เทียบนา
ขัดสมาธิไขว้แขนไพล่                           ยกตน ขึ้นอา
วิธีนี้ท่านสอนท่า                                  ก่อนช้านานปี

   
                   นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่า  “หากนับเวลาจากปีที่สร้างรูปฤๅษีดัดตนเป็นลำดับมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่ายาวนานถึง 170 ปีแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ฤๅษีดัดตน เป็นมรดกวัฒนธรรมของคนไทยทั้งชาติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ประชาชนทั้งประเทศไม่เจาะจงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” 


ท่าฤๅษีดัดตน

                 ท่าฤๅษีดัดตน ตามแบบดั้งเดิมมีประมาณ 127 ท่า แต่ในปัจจุบันนี้มีหลายสถาบันที่นำองค์ความรู้นี้มาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย เช่น สถาบันการแพทย์แผนไทย โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถาบันจะมีรูปแบบและ สไตล์ที่ต่างกัน

                  คำว่า ดัดตน หมายถึงการทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายน้อมไปตามต้องการ เช่น ให้ยืด ให้หด ให้งอ ให้บิด ฯลฯ ได้ตามต้องการแล้วแต่ความชำนาญที่ได้ฝึกฝนมาจนเกิดความคล่องตัว

                 ที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน คือ การพักผ่อนอิริยาบถ แก้เมื่อย แก้ขบ ระบบตามร่างกายของเหล่าฤๅษี ชีไพร ผู้ได้บำเพ็ญพรต เจริญภาวนามานานวันละหลายชั่วโมง

                 การดัดตน เป็นการบริหารร่างกาย หรือกายกรรม เพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งมีผลพลอยได้คือ เพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น แก้โรคลมทั้งสรรพางค์กาย แก้เมื่อย แก้ปวด เป็นต้น
 

                ท่าฤๅษีดัดตนตามแบบดั้งเดิม มีประมาณ 127 ท่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ระบุว่ามี 80 ท่า แต่ในปัจจุบันนี้คงเหลือ 24 ท่า 25 ตน เหตุเพราะมีหลายสถาบันที่นำองค์ความรู้นี้มาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย เช่น สถาบันการแพทย์แผนไทย โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) กล่าวคือ

                 สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้คัดเลือกท่าฤๅษีจาก 127 ท่า มาประยุกต์ให้เกิดความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหว เป็นท่าหลักๆ 15 ท่า ซึ่งทั้ง 15 ท่า จะมีประโยชน์ในการปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายเกือบทุกส่วน มีทั้งท่ายืน ท่านอน ท่านั่ง และปัจจุบันได้เผยแพร่ให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปเป็นท่าการ ออกกำลังกายสำหรับประชาชนทั่วไป
 

การคัดเลือกท่าพื้นฐาน
                 สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้ดำเนินการคัดเลือกท่าฤๅษีดัดตนพื้นฐาน 15 ท่า จากท่าฤๅษีดัดตนที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมด 127 ท่า โดยมีแนวคิดและหลักการคัดเลือก ดังนี้

                1. เป็นท่าที่เป็นตัวแทนของอิริยาบถต่าง ๆ และสามารถบริหารร่างกายได้ครอบคลุมทุกส่วน ตั้งแต่คอ ไหล่ แขน อก ท้อง เอว เข่าไปจนถึงเท้า

                 2. เป็นท่าพื้นฐานทั่วไปสำหรับการเริ่มต้นฝึกปฏิบัติให้เกิดความเคยชินและช่วยให้เห็นความสำคัญของการจัดโครงสร้างร่างกายของตนเองให้สมดุล

                 3. เป็นท่าที่เลือกมาจากท่าฤๅษีดัดตนซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมแล้วปรับประยุกต์ใช้ในท่าต่าง ๆ เช่น นั่ง นอน หรือยืน มีการสรุปความเคลื่อนไหวต่อเนื่องหรือนำท่าเดิมหลายท่ามาเคลื่อนไหวต่อเนื่องกัน

                4. การคัดเลือกท่าต่างๆ จะใช้แนวคิดเกี่ยวกับความสมดุลของโครงสร้างร่างกายและการบริหารร่างกายตามแนวต่าง ๆ เช่น แนวดิ่ง แนวราบ แนวเฉียง โดยเพิ่มเติมการตรวจร่างกาย อย่างง่าย ๆ เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างร่างกายของตนเองที่ไม่สมดุล โดยอาศัยแนวคิดด้านดุลยภาพของ รศ. พญ. ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ มาใช้ในการคัดเลือกท่าที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถฝึกหัดได้โดยไม่ทำให้โครงสร้างที่เสียสมดุลอยู่เดิมมีความเสียหายมากขึ้น

                5. ในการคัดเลือกท่าฤๅษีดัดตน ได้เพิ่มท่าบริหารกล้ามเนื้อบนใบหน้า ซึ่งคิดค้นโดย รศ. นพ. กรุงไกร เจนพาณิชย์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ และเคยศึกษาการนวดไทยจากอาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ หมอนวดราชสำนัก ก่อนที่จะเสียชีวิตสามารถคิดค้นท่านวดกล้ามเนื้อบนใบหน้า 7 ท่าขึ้นมา


6. การคัดเลือกท่าต่าง ๆ ไม่เน้นการรักษาเฉพาะโรค แต่เป็นการเตรียมพร้อมการปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายอย่างง่ายด้วยตัวเอง

               7. ท่าที่คัดเลือกไว้นี้ แม้จะมีการวิเคราะห์โดยใช้ความรู้ทางแพทย์แผนปัจจุบันทั้งในแง่ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลแล้วก็ตาม สถาบันการแพทย์แผนไทย ก็ยังมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้เกิดการวิจัยควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง
 

ลักษณะท่าทาง
               ในปัจจุบันท่าฤๅษีดัดตนเป็นการนำท่าต่างๆ จากต้นฉบับที่มีการบันทึกไว้ที่วัดโพธิ์มาคัดเลือกท่าที่ปลอดภัยเหมาะสม มาเป็นท่าการออกกำลังกาย โดยเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ ควบคู่กับ การหายใจ เข้า- ออก อย่างช้าๆ และมีสติ

การฝึกลมหายใจ
               การฝึกท่าฤๅษีดัดตนนั้นในตำรามิได้มีการระบุชัดเจนเกี่ยวกับการหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม ในศาสนาพุทธมีการนั่งสมาธิ โดยการฝึกการบริหารลมหายใจเช่นกัน ดังนั้นท่าฤๅษีดัดตนจึงน่าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดลมหายใจและการกลั้นลมหายใจ ดังนั้นก่อนที่จะบริหารร่างกายด้วยท่าฤๅษีดัดตน ควรเริ่มต้นนั่งสมาธิและการฝึกการหายใจให้ถูกต้อง

            หายใจเข้า สูดลมหายใจเข้าช้า ๆ ค่อย ๆ เบ่งช่องท้องให้ท้องป่องออก อกขยาย ซี่โครง สองข้างจะขยายออกปอดขยายใหญ่มากขึ้น ยกไหล่ขึ้น จะเป็นการหายใจเข้าให้ลึกที่สุด กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ ในช่วงนี้ผนังช่องท้องจะยุบเล็กน้อยหน้าอกจะยืดเต็มที่

            หายใจออก ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ โดยยุบท้อง หุบซี่โครงสองข้างเข้ามา แล้วลดไหล่ลง จะทำให้หายใจออกได้มากที่สุด

               กายบริหารแบบไทย ท่าฤๅษีดัดตน เป็นการบริหารร่างกายของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเน้นการฝึกลมหายใจและใช้สมาธิร่วมด้วย จึงเป็นทั้งการบริหารร่างกายและบริหารจิต รวมทั้งช่วยในการบำบัดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง
 

ประโยชน์
               การบริหารร่างกายด้วยท่าฤๅษีดัดตน นอกจากใช้เป็นท่าในการบริหารร่างกายแล้ว ทำให้ ร่างกายตื่นตัว แข็งแรง และเป็นการพักผ่อน ท่าต่าง ๆ ที่ใช้ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย นับว่ามีประโยชน์เป็นอันมาก ได้แก่

                1. ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของแขนขาหรือข้อต่างๆ เป็นไปอย่าง คล่องแคล่ว มีการเน้นการนวด โดยบางท่าจะมีการกดหรือบีบนวดร่วมไปด้วย

                2. ทำให้โลหิตหมุนเวียน เลือดลมเดินได้สะดวก นับเป็นการออกกำลังกาย สามารถทำได้ในทุกอิริยาบถของคนไทย

                3. เป็นการต่อต้านโรคภัย บำรุงรักษาสุขภาพให้มีอายุยืนยาว

                4. มีการใช้สมาธิร่วมด้วยจะช่วยยกระดับจิตใจให้พ้นอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ความง่วง ความท้อแท้ ความเครียด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจหากมีการฝึกการหายใจอย่างถูกต้อง

                 จากการที่สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ถึงปัจจุบันยังไม่พบข้อเสีย หรืออันตรายจากการใช้ท่าฤๅษีดัดตน และโดยลักษณะการเคลื่อนไหว เป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้า และไม่ได้ตัด หรือฝืนท่าทางอย่างมากมาย ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยกับผู้ที่จะใช้ออกกำลังกายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
 

การนำท่าฤๅษีดัดตน ไปใช้ประโยชน์

               1. ด้านการเรียนการสอน

                   •  หลักสูตรด้านการแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข 11 หลักสูตร

                   •  หน่วยงานรัฐ/เอกชน ที่ขออนุมัติหลักสูตรผ่านสำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

                   •  หน่วยงานรัฐ/เอกชน ที่ทำความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทยกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

                   •  หน่วยงานภาครัฐเอกชน ที่ขออนุมัติใช้หลักสูตรด้านการแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข

                   •  หลักสูตรการเรียนการสอนของ โรงเรียนนวดแผนโบราณ (วัดโพธิ์)

                   •  หลักสูตรการเรียนการสอนของ โรงเรียนพิศิษฐ์เวชกรรม

                   •  หลักสูตรด้านการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร

                   •  สื่อการสอน : เอกสาร/หนังสือ คู่มือ / ตำรา / VCD “ ฤๅษีดัดตน : กายบริหารแบบไทย

                2. ด้านการให้คำแนะนำแก้อาการเจ็บป่วยสำหรับประชาชนที่มารับบริการด้านการแพทย์แผนไทยตามสถานบริการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
 










เอกสารอ้างอิง

 
1. สถาบันการแพทย์แผนไทย, กระทรวงสาธารณสุข กายบริหารแบบไทย: 108 ท่า ฤๅษีดัดตน.

2. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. 26 พฤษภาคม 2549


3. ตำราฤๅษีดัดตนวัดโพธิ์ ต้นฉบับรูปปั้นฤๅษีดัดตนวัดพระเชตุพน. โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ

   วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) 24 พฤษภาคม 2533


4. “ขยับกาย สบายชีวีด้วยกายบริหารแบบไทย ท่าฤๅษีดัดตนพื้นฐาน 15 ท่า. โดย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พิมพ์ครั้งที่ 3 กรกฎาคม 2546


 

การออกกำลังกายวิถีไทย ฤาษีดัดตนที่ควรอนุรักษ์

ปัจจุบันการออกกำลังกายแบบต่าง ๆ มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอโรบิค  โยคะ  พิลาทิส  เป็นต้นแต่การออกกำลังกายแบบไทยๆ อย่างฤาษีดัดตน  สิ่งที่คนไทยควรหันกลับมาอนุรักษ์ในคุณค่าของสิ่งดีๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ควรภาคภูมิใจนะคะ  ห้องนวดแผนไทย  รพ.รร.จปร.จึงขอเสนอการออกกำลังกายวิถีไทยฤาษี ดัดตน 15 ท่า

ตอน1

ท่าฤาษีดัดตน15ท่า ตอน 2

ท่าฤาษีดัดตน ตอน 3

ท่าฤาษีดัดตน ตอน 4

ท่าฤาษีดัดตน 15 ท่า ตอน จบ

ขอบคุณข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทย

งานภาระกิจพิเศษ สนับสนุนงานเดินวิ่งเขาชะโงก

กิจกรรมสนับสนุนงานเดินวิ่งเขาชะโงกของห้องนวดแผนไทยรพ.รร.จปร.




เป็นกิจกรรมที่ห้องนวดส่งพนักงานนวดสนับสนุนงานวิ่งเขาชะโงกสำหรับผู้ป่วยที่เป็นตะคริว จากการวิ่งระยะไกล

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรไทย กระเทียมลดไขมันในเลือด

         กระเทียม ถูกนำมาใช้เป็นยาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณเรื่อยมา เข้ามาในยุโรป อินเดีย และเอเชียและเผยแพร่เข้าไปในอเมริกา ปัจจุบันมีการวิจัยพยายามศึกษาหาสารในกระเทียมว่า มีสารอะไรบ้าง ที่มีประโยชน์ในการรักษาโรค โรคที่ใช้รักษาได้คือ โรคหัวใจ, มะเร็ง, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ใช้ต่อต้านอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำลายเซลล์ดีๆ ของร่างกาย ฯลฯ

สารบัญ



 ชื่อเรียก

ภาพ:Kkkkkkkkkk_1.jpg

         ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium sativum Linn.
         วงศ์ : Alliaceae
         ชื่อท้องถิ่น : กระเทียม (ภาคกลาง) หอมเทียม (ภาคเหนือ) หอมขาว (ภาคอีสาน) หอม หอมเทียม (ภาคใต้)

 ลักษณะทางพฤษศาสตร์

         เป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน แต่ละหัวประกอบด้วยกลีบเรียงซ้อนกันประมาณ 4-15 กลีบ บางพันธุ์จะมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า “กระเทียมโทน” แต่ละกลีบมีกาบเป็นเยื่อบางๆสีขาวอมชมพูหุ้มอยู่โดยรอบ กระเทียมมีรากไม่ยาวนัก ใบมีลักษณะยาวแบน ปลายใบแหลมแคบ โคนมีใบหุ้มซ้อนกัน ดอกออกเป็นช่อ มีสีขาวติดเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อ กระเทียมมีกลิ่นหอมฉุน รสชาติเผ็ดร้อน

 สารสำคัญที่พบ

ภาพ:Kkkkkkkkkk_4.jpg

         สารสำคัญที่ทำให้กระเทียมมีกลิ่นหอมฉุนเผ็ดร้อนคือเอนไซม์อัลลิเนส (Allinase) ที่เปลี่ยนสารอินทรีย์กำมะถันอัลลิอิน (Alliin) ให้เป็นน้ำมันหอมระเหยอัลลิซิน (Allicin) และเมื่อนำหัวกระเทียมสดมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันกระเทียม (Garlic oil) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหาร น้ำ กรดไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล กรดอะมิโน เหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี ฯลฯ

 สรรพคุณ

ภาพ:Kkkkkkkkkk_5.jpg

         การกินกระเทียมทั้งสดหรือแห้งเป็นประจำสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตันและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ความดันโลหิตสูง และปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด รักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันโรคหวัด วัณโรค คอตีบ ปอดบวม ไทฟอยล์ มาลาเรีย คออักเสบและอหิวาตกโรคได้อีกด้วย วิธีการใช้กระเทียมเพื่อรักษาโรคต่างๆคือ
         1. ใช้ขับเหงือ ขับปัสสาวะ และขับเสมหะ โดยใช้กระเทียมสดครึ่งกิโลกรัม ทุบพอแตก แช่ในน้ำหวานหรือน้ำผึ้ง 1 ถ้วย ประมาณ 1 สัปดาห์ รับประทานครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง
         2. ใช้ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยใช้กระเทียมสด 5-7 กลีบ บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย กรองเอาแต่น้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังรับประทานอาหาร
         3. ใช้รักษาแผลสด แผลเป็นหนอง โดยใช้กระเทียมสดปอกเปลือก นำมาทุบหรือฝานทาในบริเวณที่เป็นแผล
         4. ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกี่ยวกับเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในช่องคลอด โดยใช้น้ำที่คั้นจากกระเทียมสดทาบริเวณที่เป็น
         5. ลดอาการปวดฟันจากฟันผุ โดยใช้กระเทียมสดสับละเอียดทุกฟันที่ผุ
         6. ใช้รักษาอาการปวดหู หูอื้อ หูตึง โดยใช้น้ำกระเทียมหยอดหูประมาณ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง

 วิธีใช้ในการประกอบอาหาร

ภาพ:Kkkkkkkkkk_8.jpg

         กระเทียมเป็นเครื่องเทศประจำครัวของคนไทยมาช้านาน อาหารแทบทุกชินดมักมีกระเทียมรวมอยู่ด้วยเสมอ อย่างน้อยก็เป็นส่วนผสมของน้ำพริกทุกชนิด เป็นเครื่องเทศปรุงแต่งกลิ่นรสอาหารประเภท ต้ม แกง และผัดทุกชนิด เป็นกระเทียมเจียวโรยหน้าก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวต้ม ผสมกับหมูยอ แหนม ไส้กรอก เพื่อดับกลิ่นและปรุงรส นอกจากนี้ยังนำไปดอก (ส่วนมากใช้กระเทียมโทน) ใบกระเทียมสดใช้ผัดเป็นอาหาร น้ำมันกระเทียมใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ แต่งกลิ่นซอส น้ำมัน น้ำจิ้ม ฯลฯ

 ข้อสังเกต/ข้อควรระวัง

ภาพ:Kkkkkkkkkk_9.jpg

         1. ถ้าเก็บกระเทียมไว้นานเกินไป สารสำคัญในกระเทียมจะลดน้อยลง และหากจะใช้กระเทียมให้ได้ผลดีก็ไม่ควรกินหรือกลืนกระเทียมทั้งกลีบ ควรจะทุบหรือสับให้ละเอียดเสียก่อน เพื่อให้น้ำมันในกระเทียมมีฤทธิ์ในการรักษามากยิ่งขึ้น
         2. หากจะเก็บกระเทียมไว้เพื่อรับประทานได้นานๆให้นำไปดองในน้ำส้มสายชูหรือน้ำซีอิ๊ว เพราะจะช่วยรักษาคุณค่าทางอาหารของกระเทียมได้เป็นอย่างดี
         3. การปรุงกระเทียมโดยใช้ความร้อน เช่น การเจียว การต้ม จะทำให้คุณค่าในการเป็นยารักษาโรคน้อยลง ดังนั้น ควรรับประทานกระเทียมในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม
         4. คนที่เป็นโรคกระเพาะหรือท้องว่าง ไม่ควรรับประทานกระเทียม เพราะจะทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และเมื่อเกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ควรรับประทานกระเทียมให้น้อยลง

 สรุปประโยชน์และวิธีใช้กระเทียม

ภาพ:Kkkkkkkkkk_6.jpg

         มีฤทธิ์ในการฆ่าและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแทบทุกชนิด เช่น เชื้อยีสต์, เชื้อราได้ผลดีมาก ความเข้มข้นเพียง 0.02% ต่อปริมาตร ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในน้ำเลี้ยงเชื้อได้ (ถ้าเจือจางเพียง 0.001% สามารถฆ่าเชื้ออหิวาต์และเชื้อไทฟอยด์ได้)
         รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน, โรคผิวหนังที่ติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย โดยใช้กระเทียมบดพอก หรือกระเทียมฝานทาได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับทางวงการวิทยาศาสตร์ว่ากระเทียมมีสารเคมีหรือน้ำมัน กระเทียมฆ่าเชื้อราได้ดีพอ ๆ กับยาปฏิชีวนะหลายชนิด หรือดีกว่ายาปฏิชีวนะบางอย่างเพราะยาปฏิชีวนะบางชนิดสามารถฆ่าเชื้อได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา การสกัดเอาน้ำมันกระเทียมให้บริสุทธิ์แล้วผสมครีมหรือขี้ผึ้งทำเป็นลักษณะครีมหรือบาล์ม อาจจะได้ผลดีมากคือช่วยให้มีการซึมซาบได้ยิ่งขึ้น
         รักษาโรคภายใน ตามความเชื่อแผนโบราณเชื่อว่ารักษาโรคบิด โรคท้องร่วง ขับน้ำได้ ขับพยาธิและพยาธิเส้นด้าย รักษาวัณโรค (นิวโมเนีย) ลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคอหิวาต์ ไทฟอยด์ ขับลม แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ยาขับพยาธิในช่องท้อง ยาลดไข้ แก้ไอ รักษาโรคหืด หอบ โรคประสาท มะเร็ง และโรคต่าง ๆ อีกมากมาย แต่เท่าที่ได้มีรายงานจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่ากระเทียมรักษาโรคภายในดังนี้คือ
  • ลดความดันโลหิตสูงที่เกิดจากไขมันอุดตันหลอดเลือด เนื่องจากมีสารละลายไขมันในเส้นเลือด รับประทานเป็นประจำ 15 วัน ความดันโลหิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงขณะรับประทานกระเทียมเป็นประจำควรจะมีการตรวจความดันโลหิตก่อน
  • มีสารเป็นตัวนำของวิตามินบี1 เข้าสู่ทางเดินอาหารได้ดีเพื่อทำให้วิตามินบี1 นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยรวมเป็นสารอัลลิลไทอะมิน (Allithiamin) ทำให้วิตามินบี1 ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นถึง 20 เท่า และสารอัลลิซัลไฟด์จะช่วยกระตุ้นการดูดซึมของวิตามินบี1 ในลำไส้ดีขึ้นเท่าตัว
  • ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของผนังกระเพาะลำไส้ ป้องกันโรคท้องผูกและขับลมในกระเพาะลำไส้
  • ป้องกันการเป็นวัณโรคหรือนิวโมเนียได้ สำหรับผู้ที่รับประทานกระเทียมสดเป็นประจำ เนื่องจากขณะที่รับประทานกระเทียมสารมีกลิ่นกระเทียมจะระเหยออกมาทางลมหายใจ ทางปอด สารนี้จะไปทำลายเชื้อโรคที่ทางเดินหายใจก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ปอด แก้ไอ ขับเสมหะ
  • ป้องกันโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีกลไกเช่นเดียวกับป้องกันวัณโรค คือ จากสารที่ได้จากกระเทียมจะเข้าไปยับยั้งหรือฆ่าเชื้อต่าง ๆ ที่ติดเข้าไปกับอาหาร
  • ความเข้มข้นของน้ำมันกระเทียมเพียง 0.001% สามารถฆ่าเชื้ออหิวาต์และไทฟอยด์ในหลอดทดลองได้
  • เมอร์แคปแตน (mercaptan) เป็นสารกำมะถันอินทรีย์ที่อยู่ในกระเทียม ช่วยทำให้เนื้อและโปรตีนที่ทำลายยาก เช่น โปรตีนจากไข่ขาว นม ละลายและดูดซึมในลำไส้ได้ง่ายขึ้น
  • น้ำคั้นจากกระเทียมบดผสมน้ำอุ่น 5 เท่า ผสมเกลือเล็กน้อย อมกลั้วคอฆ่าเชื้อในปากและลำคอได้
  • ในอินเดียใช้กระเทียมโขลกสระผมช่วยป้องกันผมหงอก นอกจากนี้กระเทียมยังมีไอโอดีนเช่นเดียวกับสาหร่ายทะเล หอยต่าง ๆ กุ้ง น้ำมันตับปลา สับปะรด
  • น้ำคั้นกระเทียมผสมน้ำเชื่อมรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บรรเทาอาการไข้หวัดเจ็บคอ น้ำมูกไหล และอาการไอ
  • กระเทียมบดห่อด้วยผ้าขาวบางวางบริเวณริมฝีปากที่เกิดการอักเสบ 8-10 ชั่วโมง อาการจะบรรเทา

จะรับประทานกระเทียมอย่างไรดีให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

ภาพ:Kkkkkkkkkk_7.jpg

         การปรุงอาหารด้วยกระเทียมก็ยังคงเหลือสารกลุ่มซัลเฟอร์ ซึ่งยังคงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง, การรับประทานกระเทียมสดๆ จะดีที่สุด แต่จะระคายกระเพาะอาหาร ให้รับประทาน พร้อมอาหารโดยเฉพาะอาหารโปรตีน
         คนที่ไม่ชอบกลิ่นกระเทียมหรือไม่ได้รับประทานกระเทียมทุกวัน การรับประทานแคปซูล กระเทียมเป็นอาหารเสริมก็ให้ประโยชน์เช่นกัน ให้เลือกบริษัทผู้ผลิตกระเทียมที่เชื่อถือได้และควรมีฉลากระบุสารต่างๆ ในนั้นด้วย ให้ถามว่ามีการนำกระเทียมที่ผลิตได้นั้นไปทำการทดลอง ด้วยหรือเปล่าและมีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารอะไรบ้าง
         ยาเม็ดกระเทียมไม่ใช่กระเทียมสดแต่มีส่วนประกอบ ใกล้เคียงกับกระเทียมสด
         ปริมาณการบริโภคต่อวันขึ้นกับรูปแบบของการผลิต การใช้รักษาโรคควรเท่ากับหัวกระเทียมสด 4 กรัม, หรือ 600-1200 มก. ของ aged garlic, 2-5 มก. ของน้ำมันกระเทียม (garlic oil)
         อาหารเสริมจากกระเทียมควรผลิตโดยวิธีที่ไม่ทำลาย สารธรรมชาติของมันจะได้ประโยชน์เทียบเท่ากระเทียมสด เทคนิคการผลิตวิธีใหม่ที่เรียก aged garlic จะช่วยลดกลิ่น และสารอื่นๆ ที่ไม่ต้องการออกไป ขณะเดียวกันก็ทำให้คุณภาพคงทน หรือไม่สูญสลายไปหมด
         มีแพทย์คนหนึ่งซึ่งสนใจการรักษาโดยพืชสมุนไพรชื่อ JAMES DUKE, Ph.D. ได้วิจัยพบว่า กระเทียมมีสารประกอบ รวมกันถึง 202 ชนิด เขาบอกว่า "เราไม่ต้องไปหาสรรพคุณอื่นใด มาเพิ่มเติมอีก (ในการรักษาด้วยสมุนไพร) นอกจากพยายามคงสภาพ ของมันไว้ให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง"
         กระเทียมมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย จึงมีผู้ผลิตกระเทียม ออกวางจำหน่ายในรูปยาเม็ดหลายๆ บริษัทด้วยกรรมวิธี การผลิตแตกต่างกันออกไป ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การสกัดกระเทียมด้วยวิธีความร้อน, เย็น ก็จะได้สารออกมาไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่การสกัดกระเทียมด้วยน้ำหรือน้ำมัน ก็จะได้ตัวยา ออกมาแตกต่างกัน ดังนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์จากกระเทียม ควรต้องเลือกดูให้ดีๆ มิฉะนั้น จะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ควรเลือกบริษัทผู้ผลิตที่มีการนำยาที่ผลิตไปทดลองมาก่อน และได้ผลการทดลองออกมาเชื่อถือได้เท่านั้น

 วิธีปลูก

ภาพ:Kkkkkkkkkk_3.jpg

         กระเทียมปลูกง่ายโดยกลีบกระเทียมที่สมบูรณ์แช่น้ำประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วใช้ผ้าขาวบางหรือกระดาษซับชุบน้ำห่อไว้จนเริ่มงอกจึงนำไปปลูกโดยใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมรดน้ำให้ชุ่มประมาณ 3 เดือน เก็บเกี่ยวได้หรืออาจสังเกตดูใบเริ่มเหลือง
         การเก็บกระเทียมจากแหล่งผลิต (การเก็บเกี่ยว) เพื่อการตรวจสอบเอกลักษณ์ ควรเก็บเมื่อกระเทียมมีอายุระหว่าง 100 - 120 วัน เพราะระยะนี้เป็นระยะที่กระเทียมจะให้สารที่เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ ถ้าปล่อยไว้เกินกว่านั้นถึง 130 วัน จะเหมาะสำหรับนำไปทำพันธุ์มากกว่า วิธีเก็บขึ้นจากไร่จะใช้ขุดหรือถอนจากดินสุดแต่จะสะดวก ข้อสำคัญต้องไม่ให้หัวกระเทียมช้ำ แล้วนำไปล้างน้ำทำความสะอาดให้ดินออกให้หมด เตรียมผึ่งให้แห้งเก็บไว้ตรวจสอบ
         การทำให้หัวกระเทียมแห้งและการรักษา โดยปกติการทำให้พืชสมุนไพรแห้งเป็นการช่วยในการเก็บรักษาและป้องกันการเกิดเชื้อรา ทั้งต้องมุ่งถนอมสารในพืชสมุนไพรมิให้สลายตัวหรือระเหยไปได้
         นำหัวกระเทียมสดทั้งต้นมาผึ่งแดด โดยไม่ให้หัวกระเทียมถูกแดดที่ร้อนจัดแต่ให้ต้นและใบกระเทียมเท่านั้นแห้งก่อน ด้วยการนำต้นกระเทียมมาเรียงซ้อนกันเป็นแถวให้หัวกระเทียมซ่อนอยู่ด้านใน ปล่อยให้ต้นและใบตากแดดไว้ประมาณ 4-5 วัน เมื่อเห็นว่าต้นและใบแห้งดีแล้ว จึงนำมามัดไว้เป็นมัด ๆ และนำมัดกระเทียมแต่ละมัดแขวนไว้ในที่ร่ม โปร่งเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ แต่ต้องเป็นที่แห้งไม่มีลมพัดผ่านมาก เป็นที่ที่มีความชื้นไม่เกิน 10%

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- โหระพาดอทคอม
- สมุนไพรดอทคอม
- ภ.ญ.ยุวดี สมิทธวาสน์ เครือโรงพยาบาลพญาไท
- อาจารย์วิศิษย์ เกตุปัญญาพงศ์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรสถาบันราชภัฏยะลา
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

นิ้วล็อกกับการนวดแผนไทย

นวดไทยรักษา 'นิ้วล็อก' อีกทางเลือกลดปวด เลี่ยงผ่าตัด



อีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง เป็นภัยเงียบสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่กำลังเผชิญ นิ้วล็อก หรือที่เรียกกันว่า โรคนิ้วไกปืน เป็นโรคเกี่ยวกับ ความผิดปกติของมือที่ไม่สามารถ งอหรือเหยียดได้ตามปกติ
   
นิ้วล็อก โรคดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้และจากอาการที่เริ่มขึ้นนับแต่เจ็บบริเวณฐานนิ้วและนิ้วมีความฝืดในการเคลื่อนไหวขณะที่งอหรือเหยียด จนกระทั่งต่อมามีอาการล็อกหรือถ้าจะงอ กำนิ้วมือจะไม่สามารถเหยียดออกเอง หากจะเหยียดออกจะมีอาการเจ็บ ปวด หรือบางครั้งอาจจะเหยียดออกแต่งอนิ้วกลับไม่ได้ หากปล่อยทิ้งไว้นานนิ้วมือนั้นก็อาจเปลี่ยนรูปเป็นโก่ง งอ บวม เอียง นิ้วอาจแข็งไม่สามารถงอและเหยียดออกได้ทำให้การใช้งานของมือในชีวิตประจำวันเป็นอุปสรรค
   
อีกทั้งหากทิ้งไว้เนิ่นนาน ข้อต่ออาจยึดและข้อเหยียดออกไม่ได้ ฯลฯ ทำให้เกิดความพิการและจากเดิมที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน แต่ปัจจุบันพบขยายไปยังกลุ่มเด็กซึ่งใน วิธีการรักษามีทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
   
ขณะที่การรักษามีด้วยกัน หลายวิธี ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงสามารถรักษา ได้ทั้งการทานยา ฉีดยาและทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและบวมของเส้นเอ็น ฯลฯ ล่าสุดยังมีอีกรูปแบบการรักษาพร้อมเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยด้วย การนวดไทยรักษาโรค  นิ้วล็อก
   
การศึกษาวิจัยที่นำศาสตร์การนวดไทยภูมิปัญญาไทย ช่วยรักษาลดอาการนิ้วล็อกที่ปรากฏนี้ ดร.ปารัณกุล ตั้งสุขฤทัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย (วิชาการ) ให้ความรู้ว่า โรคนิ้วล็อกนี้อาการของโรคจะมีลักษณะเหมือนการเหนี่ยวไกปืน กำมือแล้วเหมือนกับเหยียดนิ้วไม่ออก
   
อาการเหล่านี้จะมีด้วยกันหลายระยะซึ่งก่อนจะเหยียดนิ้วไม่ออกจะเริ่มด้วยอาการเหยียดนิ้วออกยาก ต่อมาจะเริ่มมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น กระทั่งบางครั้งมีอาการชาร่วมด้วยและหากมีอาการเพิ่มมากขึ้นก็อาจถึงขั้นเหยียดนิ้วไม่ออก กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะเกร็งงอและลีบลง
   
“โรคดังกล่าวพบเห็นมากขึ้นต่างจากเดิม อีกทั้งพบว่าเริ่มเกิดขึ้นกับเด็กและยังพบอาการปวดไหล่ตามมาร่วมด้วยซึ่งแต่เดิมนั้นจะพบในผู้ป่วยวัยทำงาน ส่วนสาเหตุของโรคเกิดจากการใช้งานของมือทั้งหิ้วถุงหนักนาน ๆ กำบีบเครื่องมือต่าง ๆ ใช้มืออย่างรุนแรงจนทำให้เกิดการบาดเจ็บของนิ้วมืออย่างการหิ้วของหนัก ใช้เฉพาะเพียงแค่นิ้วมือเพียงไม่กี่นิ้ว พฤติกรรมที่ทำ ซ้ำ ๆ เหล่านี้ก็จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเกิดมีพังผืดเกาะยึดได้ ฯลฯ”
   
จากเดิมที่พบในกลุ่มวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปที่เข้ามารับการรักษา แต่เวลานี้พบในวัยเด็กซึ่งเข้ามารับบริการการรักษาที่นี่ซึ่งในกลุ่มวัยนี้  จะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว แต่อย่างไรก็ตามหากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บของนิ้วมือ รวมทั้งละเลยการพัก การบริหารมือก็อาจต้องเผชิญกับนิ้วล็อก
   
“การศึกษาวิจัยครั้งนี้เริ่มจากพบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวนี้บ่อยครั้งก็เลยนำการนวดไทยมารักษาซึ่งก็พบว่ามีประสิทธิผลเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง จากที่กล่าวอาการนิ้วล็อกมีด้วยกันหลายระยะในอาการป่วยนิ้วล็อกช่วงแรกในขั้นที่ 1 และ 2 การรักษาด้วยการนวดช่วยรักษาได้ สามารถลดอาการนิ้วล็อก รวมทั้งอาการปวดข้อและความลำบากในการเคลื่อนไหวของข้อ”
   
การรักษาจะเริ่มจากการซักประวัติผู้ป่วยซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญสามารถบอกถึงสาเหตุการเกิดโรคได้ ส่วน ถ้าอาการดังกล่าวเป็นระยะแรกและหลังการรักษาผู้ป่วยไม่กลับไปมีพฤติกรรมซ้ำเดิมอีก การนวดรักษาดังกล่าวสามารถช่วยให้หายขาดได้ แต่หากหลังการรักษากลับมามีพฤติกรรมแบบเดิม ๆ อีก อาการนิ้วล็อกที่เคยเกิดขึ้นก็จะกลับมาอีกครั้ง
   
ขณะที่ การนวด หมายถึงการใช้มือบีบหรือกดเพื่อให้คลายความปวดเมื่อย ด้วยคุณค่าการนวดแผนไทยซึ่งสามารถนำมารักษาอาการป่วยได้ทั้งกายและใจ ช่วยการไหลเวียนของโลหิต ผ่อนคลายเส้น กล้ามเนื้อ คลายลดอาการปวดเมื่อยแล้วยังสร้างความสดชื่น นำมาช่วยลดความทรมานจากโรคได้อีกด้วยอย่างเช่น โรคเครียด
   
การนวดเพื่อบำบัดรักษาโรคจะมีหลักในการรักษา การนวดเพื่อการรักษาส่วนใหญ่ จะเป็นการนวดแบบราชสำนักจะใช้นิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้ว แขนทั้งสองข้างจะเหยียดตรงเสมอซึ่งการนวดดังกล่าวนี้จะเกิดผลต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ จะใช้แรงกดย้ำไปตามเส้นรักษาไปตามอาการ
   
“การนวดรักษาจะมีหลายขั้นตอนไม่ได้นวดกดเพียงเฉพาะส่วนนิ้วอย่างเดียว แต่จะมีหลักในการรักษาของแพทย์แผนไทยแบ่งเป็นขั้นต่าง ๆ มีทั้งการนวดพื้นฐานบ่า นวดพื้นฐานแขนด้านใน ฯลฯ ขณะที่การใช้น้ำหนักก็จะมีการคำนวณต่างกันไป
   
ส่วนกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บมาก การรักษาด้วยการนวดอาจจะไม่หายขาด แต่อย่างไรก็ตามการนวดก็จะช่วยให้ทุเลาจากอาการปวดเป็นการบรรเทาอาการให้แก่ผู้ป่วยได้”
   
ในระยะแรกของโรคนิ้วล็อกจะปรากฏอาการนิ้วเริ่มตึง กำนิ้วแล้วเริ่มจะเหยียดไม่ออก ขยับเคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งในอาการระยะแรกของโรคนี้จะยังไม่ปวดมากถ้ามีการบริหารนิ้ว ไม่กลับไปมีพฤติกรรมซ้ำเดิมอีกก็จะหายขาดได้และหลังจากการนวดรักษาก็ประคบด้วยสมุนไพร
   
จากการใช้งานของมือที่รุนแรงซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของนิ้วมือ ก่อนจะต้องเสี่ยงกับความเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว นอกเหนือจากการมีความรู้เข้าใจในโรคนิ้วล็อกภัยเงียบใกล้ตัวแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสิ่งนี้เป็นอีกความจำเป็นที่ต้องไม่มองข้าม.

ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.nightsiam.com/

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรลดไขมันในเลือด

กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด
กระเจี๊ยบแดง
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Hibiscus sabdariffa  L.
ชื่อสามัญ : Jamaican Sorel, Roselle
วงศ์ Malvaceae
ชื่ออื่น : กระเจี๊ยบ  กระเจี๊ยบเปรี้ย  ผักเก็งเค็ง  ส้มเก็งเค็ง  ส้มตะเลงเครง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 50-180 ซม. มีหลายพันธุ์ ลำต้นสีม่วงแดง ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ 3 หรือ 5 แฉก กว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-15 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีชมพูหรือเหลืองบริเวณกลางดอกสีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้
สรรพคุณ :
  • กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล
  1. เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย
  2. ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด
  3. น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง
  4. ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งเปราะได้ดี
  5. น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง
  6. ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ
  7. เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ
  8. เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่ด้วย
  • ใบ  แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอ ให้ลงสู่ทวารหนัก
  • ดอก  แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก
  • ผล  ลดไขมันในเส้นเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ
  • เมล็ด  บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด
          นอกจากนี้ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน
          นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้ว ยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
         
โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา  (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป
สารเคมี
          ดอก 
พบ
Protocatechuic acid, hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin
คุณค่าด้านอาหาร
          น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ส้มพอเหมาะ" ในใบมี วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
          น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร
Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ
  

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรใกล้ตัวกับเบาหวาน

  โรคเบาหวานกับสมุนไพรไทยใกล้ตัว
เป็นโรคที่เกิดจากการที่เลือดมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติมาก จนร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ หรือใช้ให้หมดได้ มักจะถูกขับออกมาทาง น้ำปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาล
     นอกจากแนวทางในการรักษาแบบตะวันตกแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งคือภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคเบาหวาน โดยเน้นสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถหากันได้ทั่วไป
สมุนไพรที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้ทาน ได้แก่
·มะระ ได้แก่ มะระขี้นก และ มะระจีน มักใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือ ทำเป็นแกงจืด หรือผัด
สรรพคุณ  ช่วยเจริญอาหาร น้ำคั้นจากผล ช่วยแก้ไข้ และใช้อมแก้ปากเปื่อย ผลของมะระเมื่อแก่เต็มที่แล้วนำมาตากแห้ง แล้วชงเป็นน้ำชาได้ แก้โรคเบาหวาน ใบสดของมะระขี้นก  หั่นชงกับน้ำร้อนใช้ถ่ายพยาธิเข็มหมุด ในใบและในผลมีสารออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ พี-อินซูลีน (p-insulin) และคาแรนติน (charantin)
     ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลอดภัย การนำมะระมารับประทาน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจร่างกายเป็นประจำ เพราะว่า อาจทำให้ระดับน้ำตาลต่ำกว่ามาตราฐานเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
                           
·ตำลึง  มีสารออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยมีการทดลองใช้น้ำคั้นจากใบและเถา น้ำคั้นจากเถาตำลึง และสารสกัดจากใบและเถาตำลึงด้วยแอลกอฮอล์ พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้
·เตยหอม  มักใช้น้ำจากเตยทำขนม เพื่อเพิ่มความหอม และสีสัน  นอกจากนี้นิยมทำเป็นเครื่องดื่มด้วย ส่วนสรรพคุณ ใบเตยช่วยบำรุงหัวใจ ลดการกระหายน้ำ รากใช้ขับปัสสาวะ ใช้รักษาโรคเบาหวานได้ น้ำต้มรากสามารถลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้
  
     นอกจากนี้แล้ว ควรปรับพฤติกรรมการบริโภคของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยการเน้นทานข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เพราะได้คาร์โบไฮเดรตที่ย่อยสลายได้ช้าๆ ให้เวลาตับอ่อนขับอินซูลิน วิตามินในข้าวกล้อง ช่วยเผาผลาญน้ำตาลให้หมด และมีเส้นใยมากกว่าข้าวขาว 9 เท่า ทำให้รับประทานอย่างอื่นได้น้อยลง และน้ำตาลไม่สูงมาก นอกจากนี้ควรทานผักและผลไม้ที่มีเส้นใยมากๆ เพราะจะทำให้อิ่มเร็ว แคลลอรี่เข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง จึงช่วยต้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้
     ผู้ที่ยังไม่เจ็บป่วยก็สามารถทานเพื่อป้องกัน คนที่ป่วยก็ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดแม้จะไม่ได้ช่วยรักษาแทนยาแผนปัจจุบัน แต่ถ้าเราควบคุมอาหาร ทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบัน จะช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน

ภาพดุ๊กดิ๊ก อีโมชั่น  การ์ตูนน่ารัก ภาพเคลื่อนไหวภาพกลิตเตอร์  1149740_4474158 แต่ง hi5

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาไทย

ภูมิปัญญา สปาไทย หมวดหมู่ : การบริการสังคม และสมาคม
สปา คืออะไร
สปา มาจากภาษาลาติน “Sanus Per Aquam” หมายความว่าการดูแลสุขภาพโดยการใช้น้ำซึ่งช่วยให้มีสุขภาพที่ดีและผ่อนคลาย ตามคำนิยามที่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป สปาหมายถึงการบำบัดดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยวิธีทางธรรมชาติที่ใช้น้ำเป็น องค์ประกอบในการบำบัดควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยวิธีการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ โดยใช้ศาสตร์สัมผัสทั้ง 5 ได้แก่รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เป็นปัจจัยที่สร้างภาวะสมดุลระหว่างร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ อารมณ์ สปาจึงเป็นส่วนผสมของศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัดเพื่อสุขภาพที่รวมเอาหลัก การของประสาทสัมผัสทั้ง 5 เข้าไว้ด้วยกัน
รูป คือ การสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย เพิ่มความสดใส สดชื่น ให้กับสถานที่ด้วยสีเขียวจากต้นไม้นานาชนิด แต่งแต้มด้วยสีสันสวยๆ ของดอกไม้ ฯลฯ
รส คือ การกินอาหารแบบสปาควิซีน ซึ่งถึงเป็นการบำบัดร่างกายวิธีหนึ่ง ด้วยการกินอาหารสุขภาพถูกสัดส่วนตามที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะผักและผลไม้สดควรมีปริมาณมาก วัตถุดิบที่นำมาปรุงต้องสดจากไร่ ไร้สารพิษ และดูน่ากิน แม้แต่การดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรอุ่นๆ เช่น น้ำขิง ชาเขียว ฯลฯ แต่ละแก้วล้วนมีสรรพคุณช่วยขับสารพิษที่ตกค้างภายในร่างกายให้สลายออกมา
กลิ่น คือ การใช้กลิ่นหอมบำบัดตามหลักการของอโรมาเธอราปี
เสียง คือ การได้ฟังดนตรีเบาสบายแนว spiritual music หรือเป็นเสียงเลียนแบบธรรมชาติ อาทิ เสียงน้ำไหล เสียงน้ำหยด เสียงคลื่นลม หรือเสียงนกร้อง
สัมผัส คือ การได้รับสัมผัสที่อ่อนโยน ทะนุถนอม จาก Spa Therapist เพื่อบำบัดร่างกายและจิตใจให้เข้าสู่ภวังค์ นำสู่การผ่อนคลายอย่างลึกล้ำ 
องค์กรสปาระหว่างประเทศ (International Spa Association – ISPA) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ให้สปาที่เป็นสมาชิกกว่า 1,900 แห่ง จาก 53 ประเทศทั่วโลก มีบริการมาตรฐานเดียวกัน จึงประกาศว่า สปาในวันนี้ไม่ได้หมายถึงสถานที่บำบัดรักษาสุขภาพด้วยน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่ให้คนไปคลายเครียด  เพิ่มพลังชีวิต ส่วนสปาแต่ละแห่งจะมีเทคนิคและบริการอะไรบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ของสปานั้นๆ
สปาเป็นการบำบัดแบบองค์รวมที่เน้น การป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าการรักษาที่อาการ Wildwood, Chrissie, 1997 กล่าวว่าการที่อารมณ์แปรปรวนมีโอกาสทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ประเทศไทยต้องถือได้ว่าเป็นประเทศแรกที่มีการกำหนดมาตรฐานให้บริการด้านสปา เพื่อสุขภาพออกมาอย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดคำจำกัดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดสถานที่เพื่อ สุขภาพและเสริมสวย ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2547) มีใจความ ดังนี้  “กิจการสปาเพื่อสุขภาพ หมายความว่าการประกอบกิจการที่ให้การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพ โดยบริการหลักที่จัดไว้ประกอบด้วยการนวดเพื่อสุขภาพ และการใช้น้ำเพื่อสุขภาพโดยอาจมีบริการเสริม เช่น การอบเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โภชนาบำบัด และการควบคุมอาหาร โยคะ และการทำสมาธิ การใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพตลอดจนการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ก็ได้"
การให้บริการของสปา
เส้นทางนำมาซึ่งความสุขจากสปามีให้เลือกหลากหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าสปาไหนจะเลือกใช้อะไร ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ ดังนี้
1. การนวด (Massage) จัดเป็นทรีตเม้นท์ประจำสปาทุกแห่ง เพราะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละชาติ อย่างการนวดไทย ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก เพราะมีทั้งความนุ่มนวลเพื่อผ่อนคลาย มีทั้งความหนักแน่นเพื่อการรักษา และยังมีการประคบด้วยสมุนไพรไทย ปัจจุบันมีการนำนวดแผนไทยมาประยุกต์เข้ากับความรู้เรื่องธาติเจ้าเรือนทั้ง 4 ของร่างกาย จะได้เลือกใช้สมุนไพรและน้ำมันหอมระเหยที่เหมาะกับคนนั้น นอกจากนี้ยังมีการนวดเพื่อผ่อนคลาย รักษาเฉพาะจุด เช่น การนวดเท้า นวดไหล่ นวดหน้า นวดไขสันหลังเพื่อกระตุ้นประสาท รวมไปถึงการนวดของชนชาติอื่น อาทิ Swedish Massage ซึ่งเป็นการเคล้าคลึง ลูบไล้ ไล่ไปตามกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อผ่อนคลาย
2. สุคนธบำบัด (Aroma Therapy) เป็นวิธีบำบัดด้วยกลิ่น โดยใช้น้ำมันหอมระเหยสกัดจากพืชสมุนไพร
3. วารีบำบัด (Hydro Therapy) มีรูปแบบแตกต่างกันไป ตั้งแต่การแช่ตัว อบตัว ห่อตัว การประคบ การสูดดม หรือใช้น้ำร้อนจัดสลับเย็นจัด การฉีดน้ำ การรดน้ำ ว่ายน้ำ
4. โภชนบำบัด (Nutrition Therapy) เน้นการกินสารอาหารตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง อาหารปรุงแต่ง หรือปนเปื้อนสารเคมี และสารอาหารดัดแปลง
5. Exercis Breathing Therapy เป็นวิธีบำบัดทีพบมากในสปายุคพัฒนา ซึ่งมีการออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งแบบแอโรบิกและยืดเส้นยืดสาย เช่น โยคะ ไทเก็ก ชี่กง ฯลฯ แต่ต้องมีครูฝึกคอยให้คำแนะนำที่ถูกต้อง
6. การฝึกจิต (Autogenic Training) และ การฝึกสมาธิ (Meditation) Autogenic Training เป็นการฝึกจิตให้ลงไปถึงระดับจิตใต้สำนึก เพื่อแก้ไขพฤติกรรม  เพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อความสุข ความสำเร็จในชีวิตประจำวัน Meditation เป็นการฝึกรวมอารมณ์ให้หยุดนิ่งเป็นจุดเดียว ฝึกการปล่อยวางความคิด นำไปสู่การผ่อนคลายสูงสุด ก่อให้เกิดพลังบำบัดมหาศาล สามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดัน ลดความเครียด ตลอดจนช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ฯลฯ
7. ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เน้นการเปิดเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เพลงคลาสสิค ไลท์มิวสิค เพลงไทยเดิม เพลงกลุ่มนี้จะช่วยสร้างจินตภาพเพื่อการผ่อนคลาย ฟื้นผูและบำบัดรักษาโรค เพราะฟังแล้วทำให้เกิดสมาธิ เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
8. Colour-Light-Sloar Therapy เป็นวิธีบำบัดที่อาศัยแสงสี คลื่นแสง เช่น พลังออร่า (aura)เป็นหลักในการวินิจฉัยและฟื้นฟูสุขภาพ ใช้วิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อแก้ไขปรับปรุงตนเอง หรือการอาบแสงตะวัน (Solar Therapy) ของชาวอินเดีย
9. Crystal Therapy
หรือ Rock Therapy คือ การใช้พลังของหินหรือธาติบริสุทธิ์จากธรรมชาติเพื่อการผ่อนคลาย ฟื้นฟู และบำบัด โดยการวิเคราะห์จากธาตุและพฤติกรรมของแต่ละคน แล้วนำมาวางตามร่างกาย ทำเป็นเครื่องประดับสวมใส่ นำมาวางไว้ในห้อง วางไว้ใกล้ตัว ซึ่งวิธีการนี้ยังต้องการการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
10. Hobby Therapy เป็นการรวมเอากิจกรรมต่างๆ เพื่อการผ่อนคลายมาทำให้เกิดการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เช่น การวาดภาพ ระบายสีบนปูนปั้น  บนเซรามิก การเย็บปักถักร้อย การเล่านิทาน ฟังนิทาน อ่านหนังสือเพื่อทำให้ผ่อนคลาย
11. Herbal Therapy เป็นการใช้สมุนไพรที่ให้กลิ่นหอมมาเป็นอาหารหรืออาหารเสริม ใช้บำรุงผิวพรรณ อาทิ การอบไอน้ำ การแช่ตัว









ประเภทของสปา
ISPA ได้จัดแบ่งสปาออกเป็น 7 ประเภทด้วยกัน โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาจากสถานที่
1. Club Spa เป็นสปาที่มุ่งเน้นที่การออกกำลังกายเสริมสร้างสมรรถนะในความแข็งแกร่งของ ร่างกายและมีการให้บริการด้านการนวด การอบไอน้ำ การอบเซาน่า การแช่น้ำร้อน-น้ำเย็น รวมถึงโยคะ หรือการออกกำลังกายอื่นๆ สปาประเภทนี้จะไม่มีห้องพักให้บริการ
2. Cruiseship Spa
เป็นสปาที่อยู่ในเรือ โดยเน้นการผ่อนคลายด้วยการออกกำลังกาย โภชนาการบำบัด ความงาม การนวด หรือแม้แต่การจัดทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้จิตใจสงบ แนวโน้มสปาแบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น
3. Mineral Spring Spa
เป็นสปาที่ใช้น้ำพุร้อนหรือน้ำแร่เพื่อการบำบัดโดยเฉพาะนอกเหนือจากการแพทย์ ทางเลือกอื่นๆ อย่างในประเทศไทยที่มีโอกาสที่จะพัฒนาบริเวณแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มี อยู่หลายแห่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสปาได้เป็นอย่างดีในอนาคต
4. Destination Spa
เป็นสปาที่เน้นการพำนักระยะยาวเพื่อทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง มีการให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การนวด การโภชนาการบำบัดหรือกิจกรรมอื่นๆ
5. Hotel and Resort Spa
เป็นสปาที่ดำเนินการตามรีสอร์ทหรือโรงแรมโดยเสนอบริการหลักได้แก่การออก กำลังกาย การนวด การอบตัว โภชนาการบำบัด ผู้ที่มาใช้ส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการของโรงแรม
6. Day Spa
เป็นสปาที่สามารถดำเนินการได้ตามที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้าหรือสนามบิน ลักษณะผู้ใช้บริการจะเป็นระยะสั้นๆ ประมาณ 1-5 ชั่วโมง
7. Medical Spa
เป็นสปาที่เน้นการบำบัดสุขภาพซึ่งอาจเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์ทางเลือก การให้บริการจะเน้นเชิงการแพทย์มากกว่า
สปาที่เป็นที่นิยมกันมาก ได้แก่ Destination Spa, Hotel and Resort Spa, Day Spa และ Medical Spa
วิวัฒนาการสปา
สปามีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ กรีก โรมัน ที่มีการทำพิธีกรรมทางศาสนาด้วยการชำระล้างร่างกาย จิตใจและวิญญาณด้วยน้ำโดยมีการนำศาสตร์ของอโรมาเธอราพีใช้บำบัดสุขภาพแบบ องค์รวม ถือได้ว่าชาวโรมันเป็นผู้ที่มีรสนิยมในการใช้ชีวิตอย่างมาก การอาบน้ำพุร้อนถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะใช้ทั้งการอาบทำความสะอาดร่างกาย แล้วยังใช้ดูแลสุขภาพที่ดีอีกด้วย การนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยในกลุ่มชนชั้นสูงเป็นสิ่งที่กระทำกันแพร่หลาย คำว่า สปา ถือว่าก่อกำเนิดราวศตวรรษที่ 17 มาจากเมืองเล็กๆ ในประเทศเบลเยี่ยมที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า เทือกเขาแห่งอาร์เดนเนส (Ardennes Mountains) ที่มีน้ำพุร้อนใช้ในการดูแลสุขภาพ เมืองนี้ได้รับการขนานนามว่า “Gem of the Ardennes” การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมยังรวมถึงการทำสมาธิ การฝึกลมหายใจ การออกกำลังกาย วิธีการเหล่านี้จะช่วยในการลดระดับความเครียดได้ Rojas and Kleiner กล่าวว่า การทำสมาธิ โยคะจะทำให้ภาวะจิตเข้าสู่ความสมดุลและทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย แม้แต่ประเทศจีนยุคก่อนก็ใช้สมุนไพรรักษาโรคควบคู่กับการฝังเข็มและการนวด รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมาก (Wildwood, 1997)
สำหรับประเทศไทยมีจุดเด่นในการบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติโดยเฉพาะการนวดที่มี หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่ขุดพบที่ป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัย เมื่อถึงยุคสมัยกรุงศรีอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชการแพทย์แผนไทย รุ่งเรืองมากโดยเฉพาะการนวดไทย ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการแบ่งส่วนราชการด้านการแพทย์ให้กรมหมอนวด ศาสตร์การนวดไทยบางส่วนได้สูญหายไปจากการเกิดภาวะสงครามสมัยกรุงรัตน โกสินทร์ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนครบ 80 ท่าและจารึกสรรพวิชาการนวดไทยลงบนแผ่นหินอ่อน 60 ภาพแสดงถึงจุดนวดอย่างละเอียดประดับบนผนังศาลารายและบนเสาภายในวัดโพธิ์ วิวัฒนาการของการนวดไทยจึงได้ถูกสืบทอดต่อมา จนกระทั่งปัจจุบัน การนวดแผนไทยได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างทำให้ชาวต่างชาติมีความสนใจที่จะได้รับ บริการนวดไทยมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการนวดแบบราชสำนักหรือนวดแบบเชลยศักดิ์ ด้วยความโดดเด่นของศิลปะการนวดแบบไทยเป็นที่นิยมกลุ่มชาวต่างประเทศจึงเกิด การผสมผสานการนวดแผนไทยเข้ากับธุรกิจสปา ให้เป็นการจัดรูปแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของคไทยเรียกว่า ไทยสปา (Thai Spa)
สปาไทย
สปาไทย หมายถึง การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วย วิถีไทย ประโยชน์ที่ได้รับจากการดูแลสุขภาพด้วยสปาไทยนั้นจะทำให้ได้รับการผ่อนคลาย แจ่มใส อ่อนเยาว์ มีพลัง สดชื่น มีความสุข การดูแลสุขภาพด้วยสปาไทย ประกอบด้วยการผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เพื่อสุขภาพที่หลากหลาย เช่นการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ การนวด การ อบตัวด้วยสมุนไพร การพอกตัวและขัดผิว การทำสมาธิ การออกกำลังกาย และการโภชนาการ เป็นต้น
ร่องรอยแห่งภูมิปัญญาไทย
สปาไทย คือมรดกไทยเพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล สู่อนุชนคนรุ่นหลัง สามารถสืบค้นร่องรอยแห่งภูมิปัญญาไทยดังกล่าวได้จาก ใบลาน ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพลายไทย ปรากฏตามระเบียงโบสถ์ และสถานที่ต่างๆ เช่น
อโรคยาศาลา เป็นประสาทหินแบบเขมร ที่จะหาดูได้บริเวณ จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว สุรินทร์ นับเป็นแหล่งเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยวิถีไทย
รูปปั้นฤาษีดัดตนที่วัดโพธิ์ เป็นภูมิปัญญาไทยของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมตัวอย่างของภูมิปัญญาไทยที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ได้แก่
นวดไทย ประกอบด้วยการนวดแบบเชลยศักดิ์ และแบบราชสำนัก สมุนไพรไทย ที่ใช้บำรุงผิว เช่น ขมิ้นชัน ว่านนางคำ สมุนไพรที่ใช้เป็นเครื่องดื่ม ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง น้ำขิง น้ำตะไคร้ เป็นต้น สมุนไพรไทยที่ใช้บำรุงศีรษะ ขจัดรังแค ทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม ได้แก่ น้ำผลมะกรูด นอกจากนี้ยังมีการขัดตัวด้วยมะขามเปียกกับขมิ้นชันทำให้ผิวสวยงาม มีความต้านทานเชื้อโรคสูง นับเป็นการใช้ภูมิปัญญไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน
น้ำแร่ธรรมชาติของไทย (สปา) ตามแหล่งธรรมชาติต่างๆ เช่น บ่อน้ำร้อน จ.ระนอง บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน จ.ลำปาง บ่อน้ำร้อนสวนผึ้ง จ.ราชบุรี พุน้ำร้อนหินตาด จ.กาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งน้ำแร่เหล่านี้ สามารถรักษาโรคผิวหนังบางชนิดได้เพราะมีสารกัมมะถันปนอยู่ด้วย




หลากหลายรูปแบบคือความงาม
การจัดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของสปาไทย มีหลากหลายรูปแบบ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือความสามารถอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย กล่าวคือสปาไทยสามารถปรับสภาวะของร่างกายและจิตใจให้สมดุล สอดคล้องกับธาติเจ้าเรือนของผู้มาใช้บริการ สปาไทย สามารถจัดการให้สอดคล้องกับภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และภูมิประเทศ เช่น ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ โดยจะมีการใช้ว่าน สมุนไพร และองค์ประกอบอื่นๆ ของสปาตามท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป สปาแต่ละแห่งจะมีเมนูที่หลากหลาย ปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้เป็นอย่างดี
  เอกลักษณ์สปาไทย
  เอกลักษณ์สปาไทย คือเสน่ห์แห่งตะวันออกที่มี
   ลักษณะเด่น ที่จะพบได้ ณ สปาไทย ใน     ประเทศไทย อันประกอบด้วย การผสมผสานวัฒนธรรมอันอ่อนโยนกับการบริการสปาไทย คือ การนวดไทย สัมผัสกลิ่นอายแห่งมิตรไมตรีแบบไทย กลิ่นหอมจรุงใจแบบไทยด้วยดอกไม้ไทย สมุนไพรไทย เครื่องดื่มไทย และอาหารเพื่อสุขภาพแบบไทย อีกทั้งยังมีสิ่งแวดล้อม สถานที่ ภูมิอากาศ ทะเล เกาะ แก่ง หาดทราย ขุนเขา แมกไม้ พรรณไม้หอมนานาพรรณแบบไทย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะสัมผัสได้ในสปาไทยเท่านั้น อันเป็นมนต์เสน่ห์แห่งตะวันนออกและเป็นเอกลักษณ์ของสปาไทยอย่างแท้จริง

คุณภาพมาตรฐานสปาไทย
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำมาตรฐานสปาไทย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าคุณภาพของสปาไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพ ต่อผู้มารับบริการ โดยได้กำหนดมาตรฐานดูแลคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคถึง 5 ด้านด้วยกัน คือ
   1.
มาตรฐานว่าด้วยผู้ดำเนินการ
   2.
มาตรฐานว่าด้วยลักษณะโดยทั่วไป
   3.
มาตรฐานว่าด้วยผู้ให้บริการ
   4.
มาตรฐานว่าด้วยความปลอดภัย
   5.
มาตรฐานว่าด้วยการกำหนดราคา
สปาไทยสู่สากล
กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนการพัฒนาสปาไทย ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสู่สากล นำมาสู่การสร้างรายได้ของธุรกิจบริการสปาไทย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ