วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

นิ้วล็อกกับการนวดแผนไทย

นวดไทยรักษา 'นิ้วล็อก' อีกทางเลือกลดปวด เลี่ยงผ่าตัด



อีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง เป็นภัยเงียบสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่กำลังเผชิญ นิ้วล็อก หรือที่เรียกกันว่า โรคนิ้วไกปืน เป็นโรคเกี่ยวกับ ความผิดปกติของมือที่ไม่สามารถ งอหรือเหยียดได้ตามปกติ
   
นิ้วล็อก โรคดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้และจากอาการที่เริ่มขึ้นนับแต่เจ็บบริเวณฐานนิ้วและนิ้วมีความฝืดในการเคลื่อนไหวขณะที่งอหรือเหยียด จนกระทั่งต่อมามีอาการล็อกหรือถ้าจะงอ กำนิ้วมือจะไม่สามารถเหยียดออกเอง หากจะเหยียดออกจะมีอาการเจ็บ ปวด หรือบางครั้งอาจจะเหยียดออกแต่งอนิ้วกลับไม่ได้ หากปล่อยทิ้งไว้นานนิ้วมือนั้นก็อาจเปลี่ยนรูปเป็นโก่ง งอ บวม เอียง นิ้วอาจแข็งไม่สามารถงอและเหยียดออกได้ทำให้การใช้งานของมือในชีวิตประจำวันเป็นอุปสรรค
   
อีกทั้งหากทิ้งไว้เนิ่นนาน ข้อต่ออาจยึดและข้อเหยียดออกไม่ได้ ฯลฯ ทำให้เกิดความพิการและจากเดิมที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน แต่ปัจจุบันพบขยายไปยังกลุ่มเด็กซึ่งใน วิธีการรักษามีทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
   
ขณะที่การรักษามีด้วยกัน หลายวิธี ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงสามารถรักษา ได้ทั้งการทานยา ฉีดยาและทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและบวมของเส้นเอ็น ฯลฯ ล่าสุดยังมีอีกรูปแบบการรักษาพร้อมเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยด้วย การนวดไทยรักษาโรค  นิ้วล็อก
   
การศึกษาวิจัยที่นำศาสตร์การนวดไทยภูมิปัญญาไทย ช่วยรักษาลดอาการนิ้วล็อกที่ปรากฏนี้ ดร.ปารัณกุล ตั้งสุขฤทัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย (วิชาการ) ให้ความรู้ว่า โรคนิ้วล็อกนี้อาการของโรคจะมีลักษณะเหมือนการเหนี่ยวไกปืน กำมือแล้วเหมือนกับเหยียดนิ้วไม่ออก
   
อาการเหล่านี้จะมีด้วยกันหลายระยะซึ่งก่อนจะเหยียดนิ้วไม่ออกจะเริ่มด้วยอาการเหยียดนิ้วออกยาก ต่อมาจะเริ่มมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น กระทั่งบางครั้งมีอาการชาร่วมด้วยและหากมีอาการเพิ่มมากขึ้นก็อาจถึงขั้นเหยียดนิ้วไม่ออก กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะเกร็งงอและลีบลง
   
“โรคดังกล่าวพบเห็นมากขึ้นต่างจากเดิม อีกทั้งพบว่าเริ่มเกิดขึ้นกับเด็กและยังพบอาการปวดไหล่ตามมาร่วมด้วยซึ่งแต่เดิมนั้นจะพบในผู้ป่วยวัยทำงาน ส่วนสาเหตุของโรคเกิดจากการใช้งานของมือทั้งหิ้วถุงหนักนาน ๆ กำบีบเครื่องมือต่าง ๆ ใช้มืออย่างรุนแรงจนทำให้เกิดการบาดเจ็บของนิ้วมืออย่างการหิ้วของหนัก ใช้เฉพาะเพียงแค่นิ้วมือเพียงไม่กี่นิ้ว พฤติกรรมที่ทำ ซ้ำ ๆ เหล่านี้ก็จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเกิดมีพังผืดเกาะยึดได้ ฯลฯ”
   
จากเดิมที่พบในกลุ่มวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปที่เข้ามารับการรักษา แต่เวลานี้พบในวัยเด็กซึ่งเข้ามารับบริการการรักษาที่นี่ซึ่งในกลุ่มวัยนี้  จะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว แต่อย่างไรก็ตามหากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บของนิ้วมือ รวมทั้งละเลยการพัก การบริหารมือก็อาจต้องเผชิญกับนิ้วล็อก
   
“การศึกษาวิจัยครั้งนี้เริ่มจากพบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวนี้บ่อยครั้งก็เลยนำการนวดไทยมารักษาซึ่งก็พบว่ามีประสิทธิผลเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง จากที่กล่าวอาการนิ้วล็อกมีด้วยกันหลายระยะในอาการป่วยนิ้วล็อกช่วงแรกในขั้นที่ 1 และ 2 การรักษาด้วยการนวดช่วยรักษาได้ สามารถลดอาการนิ้วล็อก รวมทั้งอาการปวดข้อและความลำบากในการเคลื่อนไหวของข้อ”
   
การรักษาจะเริ่มจากการซักประวัติผู้ป่วยซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญสามารถบอกถึงสาเหตุการเกิดโรคได้ ส่วน ถ้าอาการดังกล่าวเป็นระยะแรกและหลังการรักษาผู้ป่วยไม่กลับไปมีพฤติกรรมซ้ำเดิมอีก การนวดรักษาดังกล่าวสามารถช่วยให้หายขาดได้ แต่หากหลังการรักษากลับมามีพฤติกรรมแบบเดิม ๆ อีก อาการนิ้วล็อกที่เคยเกิดขึ้นก็จะกลับมาอีกครั้ง
   
ขณะที่ การนวด หมายถึงการใช้มือบีบหรือกดเพื่อให้คลายความปวดเมื่อย ด้วยคุณค่าการนวดแผนไทยซึ่งสามารถนำมารักษาอาการป่วยได้ทั้งกายและใจ ช่วยการไหลเวียนของโลหิต ผ่อนคลายเส้น กล้ามเนื้อ คลายลดอาการปวดเมื่อยแล้วยังสร้างความสดชื่น นำมาช่วยลดความทรมานจากโรคได้อีกด้วยอย่างเช่น โรคเครียด
   
การนวดเพื่อบำบัดรักษาโรคจะมีหลักในการรักษา การนวดเพื่อการรักษาส่วนใหญ่ จะเป็นการนวดแบบราชสำนักจะใช้นิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้ว แขนทั้งสองข้างจะเหยียดตรงเสมอซึ่งการนวดดังกล่าวนี้จะเกิดผลต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ จะใช้แรงกดย้ำไปตามเส้นรักษาไปตามอาการ
   
“การนวดรักษาจะมีหลายขั้นตอนไม่ได้นวดกดเพียงเฉพาะส่วนนิ้วอย่างเดียว แต่จะมีหลักในการรักษาของแพทย์แผนไทยแบ่งเป็นขั้นต่าง ๆ มีทั้งการนวดพื้นฐานบ่า นวดพื้นฐานแขนด้านใน ฯลฯ ขณะที่การใช้น้ำหนักก็จะมีการคำนวณต่างกันไป
   
ส่วนกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บมาก การรักษาด้วยการนวดอาจจะไม่หายขาด แต่อย่างไรก็ตามการนวดก็จะช่วยให้ทุเลาจากอาการปวดเป็นการบรรเทาอาการให้แก่ผู้ป่วยได้”
   
ในระยะแรกของโรคนิ้วล็อกจะปรากฏอาการนิ้วเริ่มตึง กำนิ้วแล้วเริ่มจะเหยียดไม่ออก ขยับเคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งในอาการระยะแรกของโรคนี้จะยังไม่ปวดมากถ้ามีการบริหารนิ้ว ไม่กลับไปมีพฤติกรรมซ้ำเดิมอีกก็จะหายขาดได้และหลังจากการนวดรักษาก็ประคบด้วยสมุนไพร
   
จากการใช้งานของมือที่รุนแรงซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของนิ้วมือ ก่อนจะต้องเสี่ยงกับความเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว นอกเหนือจากการมีความรู้เข้าใจในโรคนิ้วล็อกภัยเงียบใกล้ตัวแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสิ่งนี้เป็นอีกความจำเป็นที่ต้องไม่มองข้าม.

ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.nightsiam.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น